วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553


ทานอาหารไม่ตรงเวลา..เน้นมื้อเย็น
ระวัง!!เป็น 'โรคกรดไหลย้อน'


ใครที่มีพฤติกรรมระคายเคืองบริเวณลำคอตลอดเวลา หรือมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือหลังอาหารมื้อหลักมักจะมีอาการคลื่นไส้อยากอาเจียน อาการเหล่านี้มักเป็นลางบอกเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อน ??

พญ.พรรณนภา ศรีนิลทา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก โรงพยาบาลปิยะเวท อธิบายถึงลักษณะของโรคกรดไหลย้อนให้ฟังว่า คนไข้มักจะมาด้วยเรื่องอาการของคอและกล่องเสียงเป็นส่วนใหญ่ เช่น เสียงแหบ บางคนมาด้วยอาการกระแอมตลอดเวลา เช้า กลางวัน เย็น เหมือนมีอะไรติดอยู่ในคอ โดยเฉพาะในช่วงตอนเช้า เนื่องจากเวลานอน บางรายพูด ๆ ไปเสียงก็หายไป หรือเสียงแห้งไปเลย รวมทั้งรู้สึกว่ามีอะไรร้อน ๆ อยู่ในช่องคอ จุกแน่นบริเวณหน้าอก รู้สึกเหมือนว่าในลำคอมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ เมื่อกลืนอาหารเหมือนมีอะไรมาติดอยู่ในคอ กลืนอาหารลำบาก มีอาการปวดแสบปวดร้อนในหน้าอก โดยอาการเหล่านี้ผู้ป่วยมักกังวลเพราะไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร หาที่มาของอาการไม่ได้ บางคนกังวลกลัวว่าตนเองจะเป็นมะเร็ง ก็จะมาหาหมอ

เมื่อมาหาหมอ หมอ จะตรวจโดยดูในส่วนของคอ โดยมีอุปกรณ์พิเศษ ไม่ใช่แค่เอาไม้กดลิ้นธรรมดา แต่จะใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นแท่งเหล็กที่ปลายเป็นกระจกเพื่อสะท้อนรูปร่างของกล่องเสียงให้หมอได้เห็น หากเป็นโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง จะพบว่า บริเวณกล่องเสียงส่วนหลังจะบวมแดง หรือบางรายอาจลามไปยังส่วนของเส้นเสียงด้วย คนไข้จึงมาด้วยอาการเสียงแหบ

“ส่วนอาการบวมของกล่องเสียงส่วนหลังนั้น ต้องนึกภาพว่าเรามีท่อพีวีซีอยู่ 2 ท่อ นำมาวางเป็นท่อข้างหน้ากับท่อข้างหลัง โดยท่อข้างหน้า คือ อวัยวะที่เรียกว่า กล่องเสียง ที่ต่อลงไปยังส่วนของปอด และหลอดลม ส่วนท่อด้านหลัง คือ อวัยวะที่เรียกว่า หลอดอาหาร ที่ต่อไปยังส่วนของกระเพาะอาหาร เมื่อมีภาวะที่เรียกว่า กรดไหลย้อน ที่มีสาเหตุมาจากการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารจานด่วนทั้งหลาย ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งมีพฤติกรรมชอบกินอาหารเย็นหนัก ๆ แล้วนอนเลย อาหารจึงยังตกค้างอยู่ในกระเพาะ ร่างกาย ก็ต้องหลั่งกรดออกมาย่อยอาหารที่ยังตกค้างเหล่านั้น ทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่ลำคอ เกิดอาการแสบระคายเคืองขึ้นมาบนคอในส่วนของกล่องเสียงด้านหน้าได้ ซึ่งปกติ กล่องเสียงของคนเรานั้น เนื้อเยื่อไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อให้ทนกับกรด จึงเกิดอาการบวม นั่นคือ อาการที่ทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บคอเหมือนมีอะไรอยู่ในคอ รวมทั้งเมื่อเนื้อเยื่อมีอาการบวมแดง ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือ จะมีการผลิตคล้ายเมือกออกมา ซึ่งนี่เองคือสาเหตุที่ว่า ทำไมคนไข้ถึงรู้สึกเหมือนมีเสมหะอยู่ในลำคอ มีอาการกระแอมตลอดเวลา”

การเกิดของโรคนี้ ต้องแก้ที่สาเหตุในส่วนของการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เพื่อจัดการให้มีกรดไหลย้อนขึ้นหลอดอาหารน้อยที่สุด เริ่มจากการทานอาหารต้องทานให้ตรงเวลา และไม่ทานอาหารมากหรืออิ่มจนเกินไปในแต่ละมื้อ

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ที่มีใยอาหารให้มากขึ้น ในส่วนของ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ควรงด แล้วเปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เมื่อทานอาหารเสร็จให้นั่งหรือทำอะไรก่อนอย่าเพิ่งนอนทันที โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อให้อาหารได้มีการย่อยแล้วค่อยเข้านอน

ส่วนใครที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐานมาก ๆ ควรหาทางลดน้ำหนัก เนื่องจากไขมันในช่องท้อง และไขมันรอบพุงต่างก็มีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรหมั่นหาเวลาว่างออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งควบคุมเรื่องอาหารการกิน

หากเป็นโรคนี้แล้ว ต้องใช้เวลาในการรักษา นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับประทานอาหารแล้ว ยังต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอ โดยจะเป็น กลุ่มยาลดกรด รวมทั้ง กลุ่มยาที่ช่วยทำให้มีการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้ ให้พอเหมาะมากขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็น กลุ่มยาที่ช่วยป้องกันไม่ให้กรดไหลขึ้นมาในส่วนของกล่องเสียง ซึ่งกลุ่มยา 2 กลุ่มหลังจะเป็นยาที่ช่วยเคลือบไม่ให้มีกรดขึ้นมา ช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น แต่กลุ่มยาที่สำคัญ คือ ยาลดกรด เพื่อไม่ให้คนไข้มีกรดมาก ซึ่งจะต้องทานเป็นระยะเวลานาน โดยทานก่อนอาหารเช้า เย็น อย่างน้อย 3 เดือน อาการจึงจะดีขึ้น บางคนต้องทานเป็นปี

“ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับคนไข้ในการดูแลตนเองด้วย ถ้าคนไข้มาหาหมอได้ยากลับไปทาน แต่ยังมีพฤติกรรมเหมือนเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินชีวิตเสียใหม่ รักษาอย่างไรก็คงไม่หาย คงต้องพึ่งพายาตลอดไป”

การรักษาบางรายอาจต้องรักษาร่วมกับหมอทางเดินอาหารในบางกรณี เช่น ทานยาแล้วไม่หายทั้ง ๆ ที่ปฏิบัติตนดีแล้ว 3 เดือน ไม่รู้สึกดีขึ้น อาจจะต้องมีการส่องกล้องว่า มีภาวะอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีแผลในกระเพาะอาหาร มีการอักเสบของกระเพาะอาหารร่วมด้วยหรือไม่

กรดไหลย้อน แม้เป็นโรคที่ไม่น่ากลัว แต่เมื่อเป็นแล้วจะทำให้รู้สึกรำคาญ เสียบุคลิก รู้สึกกังวลกับอาการ ที่เป็นอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลตนเอง จัดระเบียบชีวิตประจำวันให้ดี จะได้ไม่เป็นโรคนี้ เพราะเป็นแล้วต้องใช้เวลาในการรักษานานนั่นเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น